Bangpakok Hospital

4 โรคติดต่ออันตรายที่มากับเพศสัมพันธ์

18 เม.ย. 2566


1.ซิฟิลิส

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) สามารถติดต่อได้ 2 ทางคือ

1) จากมารดาสู่ทารก โดยมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิสสามารถส่งเชื้อผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์และทำให้ทารกติดเชื้อหรือพิการตั้งแต่กำเนิด บางรายอาจคลอดก่อนกำหนด เกิดภาวะแท้ง หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้

2) การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก ช่องปาก ทั้งนี้ บางกรณีอาจได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสโดยตรง เช่น ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา รอยถลอกหรือบาดแผลที่ผิวหนัง โดยเมื่อได้รับเชื้อแล้วจะกระจายไปตามกระแสโลหิตและทำให้เกิดพยาธิสภาพได้เกือบทุกอวัยวะ

อาการของผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
โดยระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศเป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ เรียกว่าแผลริมแข็ง หากไม่ได้รักษาแผลจะหายเองได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่โรคจะดำเนินต่อไปคือมีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ปวดศีรษะ ผมร่วง หากปล่อยไว้ไม่รักษา
โรคจะเข้าสู่ระยะสงบคือไม่มีอาการใด ๆ และจะทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น
เมื่อเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง น้ำไขสันหลัง อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันการได้รับเชื้อดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิสของคู่นอน เข้ารับการตรวจการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และสตรีตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อลดผลกระทบและความรุนแรงของโรค
2.โรคหนองใน

โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae)  เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถรักษาได้และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ มักแสดงอาการภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ หรือบางรายอาจปรากฏอาการเมื่อผ่านไปหลายเดือน ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้า อาการของโรคหนองในแท้จะแตกต่างกันไปตามเพศ ดังนี้

  • ผู้ชายที่ติดเชื้อจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นสีเหลืองหรือเขียวไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ โดยอาจเกิดหลังมีเพศสัมพันธ์ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ ท่ออสุจิตีบตัน และเพิ่มโอกาสในการเป็นหมันในอนาคต
  • อาการในผู้หญิงอาจไม่มีหรือมีน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ มีลักษณะเป็นน้ำหรือเส้นบาง ๆ สีออกเขียวหรือเหลือง รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ หากไม่ได้รับการรักษาโรคจะลุกลามและอาจก่อให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยาก ท้องนอกมดลูก รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

การป้องกันการติดเชื้อโรคหนองในแท้สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้เป็นประจำทุกปี

โรคหนองในเทียม (Chlamydia) เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียคลามีเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อ อาการของโรคหนองในเทียมบางรายอาจไม่ปรากฏชัดเจน ส่วนบางรายจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1 – 3 สัปดาห์ และอาการจะแตกต่างกันตามเพศ ดังนี้

  • อาการในผู้ชาย มักพบว่ามีอาการปัสสาวะแสบขัด มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ เกิดการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ บางรายอาจไม่มีอาการซึ่งหากไม่ได้รักษา โรคอาจลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในลักษณะเดียวกับโรคหนองในแท้ เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคตาอักเสบ โรคทวารหนักอักเสบ เป็นต้น
  • อาการในผู้หญิง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการตะคริวหรือรู้สึกเจ็บใต้ท้องน้อย ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง ตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ เลือดออกหรือรู้สึกเจ็บระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้หรือมีความกังวลว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองและบำบัดรักษาหากติดเชื้อ เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ การตั้งครรภ์นอกมดลูก การเป็นหมันเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่อรังไข่ ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

3.กลุ่มอาการภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)

คือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ที่สามารถพบได้ในของเหลว เช่น เลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด น้ำนมของผู้ที่ติดเชื้อ

ช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่ป้องกัน
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ
  • การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อผ่านผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือถลอก
  • การรับเชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อทั้งขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และการให้นมทารก

โดยเชื้อเอชไอวีจะทำให้ภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อและเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ จำนวนเม็ดเลือดขาวและประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคจะเสื่อมถอย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นและเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น วัณโรคและปอดบวม เป็นต้น

4.โรคไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการตับอักเสบเรื้อรังและมีสาเหตุการแพร่เชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสเลือด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี โดยการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อได้จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและมีโอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า ‘พาหะ’ ซึ่งมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเท่านั้น สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือเลือด เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เจ้าหน้าที่พยาบาลถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ที่ติดยาเสพติด การสัก การให้เลือด หรือแม่สู่ลูก เป็นต้น

ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนมากไม่แสดงอาการ หรือมักมีอาการเรื้อรัง เช่น รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ปวดท้อง มีไข้ น้ำหนักลด อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นคัน เป็นต้น และเนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการผิดปกติทำให้ไม่ทราบว่าตนเองกำลังติดเชื้อ จะทราบก็ต่อเมื่ออาการปรากฏในช่วงที่ตับได้รับความเสียหายมากแล้ว โดยหากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดโรคตับแข็งได้

ที่มาข้อมูล :กรมควบคุมโรค,กระทรวงสาธารณสุข

ติดตามช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอก 3

Facebook : https://www.facebook.com/bangpakok3

LINE O/A : https://page.line.me/947ptrfh

YouTube : https://shorturl.asia/qjUJc

TikTok : https://shorturl.asia/dP5Z0

Go to top
Copyright © 2021 Bangpakok Hospital All rights reserved.