ภาวะวูบหมดสติ สัญญาณเตือนบอกโรคร้าย
ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) เป็นอาการสูญเสียความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ ทำให้สมองขาดออกซิเจนชั่วคราวจะมีลักษณะอาการเฉพาะ คือ หมดสติเฉียบพลัน เกิดขึ้นชั่วขณะในระยะเวลาอันสั้นและสามารถฟื้นคืนสติเองได้ จะแสดงออกทางอาการหลากหลาย เช่น เรียกไม่รู้สึกตัว ล้มลมกับพื้น ทรงตัวไม่อยู่ อาจมีอาการเกร็งที่มือ เท้า ตาค้างชั่วขณะ เหงื่อออกที่ใบหน้า ซึ่งผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ตอนหมดสติไม่ได้ โดยจะมีระยะเวลาการหมดสติตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 5 นาที ขึ้นกับสุขภาพพื้นฐานเดิมของผู้ป่วย
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนำมาก่อนเกิดอาการวูบหมดสติ เช่น รู้สึกหวิวๆ มึนศรีษะ โคลงเคลง ตาพร่า หรือเห็นแสงแวววาบ ปลายมือ ปลายเท้าเย็น คลื่นไส้ อาการวูบไม่รู้ตัวเป็นเรื่องที่อันตรายมากในกลุ่มคนที่ต้องทำงานบนที่สูง หรือผู้ที่ต้องขับรถ
สาเหตุอันตรายของการเกิดภาวะวูบหมดสติ
- เกิดจากโรคหัวใจโดยตรง เช่น
- หลอดเลือดหัวใจตีบ
- ลิ้นหัวใจตีบ
- หัวใจเต้นผิดจังหวัดทั้งชนิดเร็วและช้า
- กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ , ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
- กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งมักพบตามหลังสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น
- หลังไอ จาม เบ่ง
- ยืนนานๆ ในที่แออัด หรืออากาศร้อน
- กลัวการเจาะเลือด
- หลังออกกำลังกาย
- เกิดจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำ เช่น
- ท้องเสียรุนแรง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน
- เกิดจากยาบางชนิด โดยเฉพาะ
- ยาความดันโลหิตสูง
- ยารักษาต่อมลูกหมาก
- ยาต้านอาการซึมเศร้า
- ยาเบาหวาน
เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรทำอย่างไร
ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้
- ให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นที่สะอาด ปลอดภัย
- ไม่มุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
- ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ป้องกันลิ้นตก
- ถ้ากำลังรับประทานอาหารอยู่ มีอาหารในปาก มีฟันปลอมอยู่ ควรใช้ผ้าล้วงเศษอาหารออกจากปาก และถอดฟันปลอมได้ ให้ช่วยถอดฟันปลอม
- เรียกรถฉุนเฉิน หรือนำส่งโรงพยาบาล
วิธีป้องกันอาการหน้ามือ วูบ หมดสติ
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การรู้ว่ามีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติอะไร จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับอาการผิดปกติได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับอายุ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหมเกินไป
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน (ควรดื่มให้ได้ 8-13 แก้ว/วัน)
- พักผ่อนให้เพียงพอ และนอนหลับให้เป็นเวลาอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน
- ถ้ากินยาเป็นประจำ แล้วทำให้หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra