Bangpakok Hospital

วุ้นตาเสื่อม รู้ตัวช้าเสี่ยงตาบอดถาวร

18 ส.ค. 2566

วุ้นตาเสื่อม รู้ตัวช้าเสี่ยงตาบอดถาวร

เคยสังเกตไหม? เวลาที่เรามองไปข้างหน้าแล้วรู้สึกไม่สบายตา มีตะกอนหรือเป็นหยากไย่เกิดขึ้นเป็นจุดลอยไปลอยมา ถ้ามีอาการเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นวุ้นในตาเสื่อม โดยปกติแล้วภาวะวุ้นตาเสื่อมมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่าภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับหนุ่มสาวคนทำงานออฟฟิศมากขึ้น จากพฤติกรรมการใช้หน้าจอมากเกินไป

ภาวะวุ้นตาเสื่อม 

เกิดจากการที่น้ำวุ้นตาซึ่งเป็นของเหลวใสลักษณะคล้ายเจลที่อยู่ภายในโพรงลูกตาเริ่มมีการหดตัวและทึบแสงขึ้น จนเกิดเป็นตะกอนขนาดเล็กลอยไปลอยมาในดวงตา หากลอยไปยังโซนรับภาพของจอประสาทตาอาจทำให้ผู้ป่วมองเห็นตะกอนดังกล่าวได้ วุ้นตาเสื่อมมักพบได้บ่อยในวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุโดยอาจเกิดขึ้นในตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

 

สาเหตุวุ้นตาเสื่อม

สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุได้แก่

  • ภาวะความเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย
  • การอักเสบในวุ้นตาและจอตา (Intermediate and Posterior Uveitis) ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ หรือภาวะทาง    กายอื่นๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น
  • ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา จากอุบัติเหตุหรือโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด

 

อาการของวุ้นตาเสื่อม

  • มองเห็นจุด เส้นคล้ายลูกน้ำ หรือหยากไย่ มักลอยไปมาตามการกรอกตา
  • มองเห็นตะกอนวุ้นตาชัดขึ้นเมื่อมองไปที่ผนังห้องสีสว่าง หรือท้องฟ้า
  • มองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชกล้องถ่ายรูป โดยเฉพาะในที่สลัวหรือที่มืด

ปัจจัยเสี่ยงวุ้นตาเสื่อม

  • อายุเกิน 50 ปี
  • สายตาสั้น 
  • เคยมีอุบัติเหตุที่ตา
  • ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
  • เบาหวานขึ้นจอตา
  • การอักเสบในตา

วุ้นตาเสื่อมควรพบแพทย์เมื่อใด

  • มองเห็นเป็นเงาตะกอนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น
  • มองเห็นแสงวาบ แสงแฟลซ ม่านสีเทาที่ทำให้การมองเห็นลดลง
  • สูญเสียการมองเห็นด้านข้าง รู้สึกขอบเขตการมองเห็นแคบลง

โดยอาการข้างต้น อาจเป็นสัญญาณอันตรายจากโรคจอประสาทตาฉีกขาดหรือจอประสาทตาลอก ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญจากภาวะวุ้นตาเสื่อม หากรักษาล่าช้าอาจก่อให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที


ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan

LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra

Go to top
Copyright © 2021 Bangpakok Hospital All rights reserved.