7 อาหารโซเดียมสูง ที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง
อาหารที่มีรสชาติเค็ม คืออาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ โดยเกลือมีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมคลอไรด์ เมื่อเราทานอาหารที่มีโซเดียมเข้าไปในร่างกาย ไตจะทำหน้าที่ขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ แต่เมื่อไตทำงานผิดปกติไม่สามารถขับโซเดียมได้ในปริมาณที่เหมาะสม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดเพื่อช่วยให้ไตขับโซเดียมได้มากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะมีผลกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีกด้วย
การทานอาหารที่มีโซเดียมสูงนอกจากจะทำให้เป็นความดันโลหิตสูงแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วยโรคความดันโลหิตสูงถึงจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับปกติได้ ด้วยการดูแลตัวเองให้ถูกวิธี เลือกทานอาหารที่เหมาะสม
ความดันโลหิตสูงคือ
เป็นภาวะที่ตรวจพบว่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
อาการของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่ในบางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่าย ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ถูกทำลายได้ เช่น หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และเนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะทำงานผิดปกติ
7 อาหารโซเดียมสูง ที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง
- เครื่องปรุงทุกชนิด เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ เครื่องปรุงสำเร็จรูป
- อาหารที่ใส่ผูรส ซุปก้อนปรุงรส
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง
- อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง
- ขนมอบ เช่น คุกกี้ แครกเกอร์
- ผลิตภัณฑ์ผสมสารกันบูด
- อาหารกระป๋องต่างๆ
การดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความดันโลหิตสูง
- ลดทานอาหารรสชาติเค็มจัด
- รับประทานผัก ผลไม้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- ตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra