ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 สายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายง่าย รุนแรงกว่าเดิม
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก หลังระบาดหนักทั่วแอฟริกา พบผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน หลังพบสายพันธุ์ Clade 1b (เคลด 1บี) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากกว่าเดิม มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อสูงสุดร้อยละ 10
เชื้อฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ Clade 1 และ Clade 2 ซึ่งครั้งที่แล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนภัยสาธารณสุขเมื่อปี 2565 ตอนนั้นเป็น Clade 2 ที่อาการไม่รุนแรง และพบว่าการระบาดส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และรอบนี้มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น คือ Clade 1 โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงช่วงประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้ว และมีความรุนแรงมากกว่าเดิม แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อสูงสุดร้อยละ 10
โดยตั้งแต่ต้นปีที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 13,700 คน พบผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน จากนั้นเจอในประเทศอื่นตามมาคือ สาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เคนยา และรวันดา
อาการเป็นอย่างไร
อาการเริ่มต้นของโรคนี้ประกอบด้วย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดหลังและปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้นเป็นตุ่มใส หรือตุ่มหนอง มักเริ่มต้นที่ใบหน้าและแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย โดยพบมากสุดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจทำให้คันหรือเจ็บปวดอย่างมาก
แพร่กระจายอย่างไร
แพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสทางผิวหนัง และการพูดหรือหายใจใกล้กับผู้อื่น และไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีแผล ทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัส เช่น เครื่องนอน เสื้อผ้า และผ้าขนหนู การสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หนู และกระรอก
ใครเสี่ยงที่สุด
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย และผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของโรคฝีดาษลิง
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- หากผู้ที่มีอาการสงสัย ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra