Bangpakok Hospital

โรคบาดทะยัก ความเสี่ยงจากเรื่องใกล้ตัว

30 ส.ค. 2567

โรคบาดทะยัก ความเสี่ยงจากเรื่องใกล้ตัว

บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางบาดแผลตามร่างกาย ซึ่งส่งผลให้มีอาการทางระบบประสาทตามมา และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้จะมีวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักแล้ว หากร่างกายได้รับบาดแผลเพิ่มถึงแม้จะแผลเล็กนิดเดียว และชะล่าใจในการทำความสะอาดบาดแผล ก็อาจทำให้ได้รับเชื้อบาดทะยักได้


บาดทะยัก คืออะไร

โรคบาดทะยัก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Tetani มักพบในดิน ฝุ่น และมูลของสัตว์ โดยเชื้อชนิดนี้หลังจากเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลจะสร้างสารพิษ Tetanospasmin ที่ส่งผลต่อระบบประสาทขึ้นมา ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง แข็งเกร็ง มีอาการกระตุก ทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก รวมถึงอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหายใจ ลามไปยังไขสันหลัง จนถึงก้านสมองบางส่วน และนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้


อาการของโรคบาดทะยัก

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7-14 วัน อาการของโรคบาดทะยักที่พบบ่อย มีดังนี้

  • ขากรรไกรแข็ง หรือมีภาวะกรามติด เจ็บปวดเวลาอ้าปาก
  • คอแข็ง กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง ทำให้กลืนอาหารและหายใจลำบาก
  • มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เช่น การสัมผัส เสียง แสงสว่าง ซึ่งอาการกระตุกจะสร้างความเจ็บปวดอยู่หลายนาที
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง

ลักษณะแผลที่เสี่ยงเป็นบาดทะยัก

โดยทั่วไปแล้ว แผลที่มีความลึกและมีการปนเปื้อนจากสิ่งปรกจะมีโอกาสในการติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายกว่าแผลทั่วไป ซึ่งลักษณะของบาดแผลที่เสี่ยงเป็นบาดทะยักได้ง่าย มีดังนี้

  1. แผลจากของมีคม 
  2. แผลจากการถูกสัตว์กัด หรือข่วน
  3. แผลไฟไหม้
  4. แผลติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวาน
  5. แผลกระดูกหัก ที่ทะลุออกมาภายนอกผิวหนัง

วิธีป้องกันบาดทะยัก

การป้องกันโรคบาดทะยักสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการจากโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรได้รับวัคซีนกันบาดทะยักอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนด ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณบาดแผล


การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักควรฉีดตอนไหน

  1. หากในสมัยเด็ก ได้รับวัคซีนบาดทะยักครบตามกำหนด (ในเด็กเล็กจะเป็นวัคซีนรวมป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก) เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น จะดูตามบาดแผลคือ
  • หากเป็นแผลสะอาด ไม่ลึก ขนาดแผลไม่ใหญ่ หากได้รับวัคซีนบาดทะยัก หรือวัคซีนรวมเข็มสุดท้ายมาไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่หากเกิน 10 ปีแล้ว ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม
  • หากเป็นแผลสกปรก บาดแผลลึก มีแผลขนาดใหญ่ หรือมีหลายแผล หากได้รับวัคซีนบาดทะยักเข็มสุดท้ายเกินมา 5 ปี ต้องฉีดกระตุ้น 1 เข็ม

  1. หากในสมัยเด็ก ได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ครบ 3 เข็ม และหลังจากนั้นจะฉีดกระตุ้นตามลักษณะของบาดแผล

อาการแทรกซ้อนจากบาดทะยัก

  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่มากผิดปกติ อาจทำให้กระดูกสันหลัง และกระดูกส่วนอื่นๆ เกิดการแตกหักได้
  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจเกิดโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด โรคปอดอักเสบ และระบบลมหายใจล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจอยู่เต้นและเสียชีวิตได้


ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra
 


Go to top
Copyright © 2021 Bangpakok Hospital All rights reserved.