กระดูกสะโพกหัก ในผู้สูงอายุรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
กระดูกสะโพกหัก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายในผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อต่อกระดูกสะโพกไม่ค่อยแข็งแรงจากการที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกเสื่อมสภาพลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุที่ล้มแล้วกระดูกสะโพกหักถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบรักษาเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ดังนั้นการทำความรู้จักกับภาวะกระดูกสะโพกหัก จึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจเพื่อให้เราดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวให้ปลอดภันมากยิ่งขึ้น
กระดูกคอสะโพกหักคืออะไร
คือภาวะกระดูกหักบริเวณกระดูกต้นขาส่วนต้น ตั้งแต่คอกระดูกต้นขา Intertrochanteric Area ไปจนถึง Subtrochanteric Area พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย โดยผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงหลังหมดประจำเดือน ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะกระดูกสะโพกหักจากการล้ม
อาการบ่งบอกกระดูกสะโพกหัก
- ขาผิดรูป ปลายเท้าข้างที่สะโพกหักจะหมุนออกด้านนอก หรือขาข้างที่หักอาจจะสั้นลง
- สะโพกช้ำ บวม หรือปลายเท้าเย็น
- ขยับขาข้างที่หักไม่ได้
- ยืนลงน้ำหนักในขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกสะโพกหัก
- อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
- เพศหญิง มีโอกาสเกิดสะโพกหักมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า
- พันธุกรรม หากผู้สูงอายุในครอบครัวมีประวัติกระดูกหักง่ายก็จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
- โครงสร้างร่างกาย ผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกเล็ก หรือรูปร่างผอมจะมีความเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หากดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ และบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ อาจทำให้กระดูกเปราะบางไม่แข็งแรง
- ยาบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือทำให้เพิ่มโอกาสการมีภาวะกระดูกพรุนได้
- โรคประจำตัว เช่น โรคกระดูกพรุน ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม ภาวะไตวายเรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกสะโพกหัก
อาการกระดูกสะโพกหัก ไม่ได้ส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตในทันที แต่อาการกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตลงได้จากภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดขึ้นในช่วงพักฟื้น เพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะนอนติดเตียง และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อันตรายถึงชีวิต ได้แก่
- ปอดแฟบ
- ปอดอักเสบติดเชื้อ
- แผลกดทับบริเวณด้านหลัง นำไปสู่การติดเชื้อรุนแรง
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณขา ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ลิ่มเลือดหลุด ลิ่มเลือดนี้จะหลุดและไหลไปที่หัวใจและไหลต่อไปที่ปอดจนไปอุดตันที่ปอด ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
การวินิจฉัยภาวะกระดูกสะโพกหัก
การวินิจฉัยโดยทั่วไปใช้การเอ็กซเรย์ ก็สามารถตรวจสอบบได่อย่างแม่นยำ จะมีเพียงบางกลุ่มที่ร่องรอยจากภาพเอ็กซเรย์อาจไม่ชัด ต้องอาศัยการทำเอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ MRI ร่วมด้วย เมื่อผลการวินิจฉัยแน่ชัดว่ากระดูกสะโพกหัก แพทย์จะแนะนำทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
การรักษา
แนวทางการรักษากระดูกสะโพกหัก คือ การผ่าตัดซึ่งควรได้รับการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังกระดูกสะโพกหัก เพราะช่วยลดระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยแนวทางการรักษาจะมีการผ่าตัด 2 ชนิด คือ
- ผ่าตัดยึดกระดูก เป็นการจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ เมื่อจัดกระดูกเข้าที่แล้ว แพทย์จะทำการยึดกระดูกด้วยสกรูยึดเข้ากับแผ่นโลหะ โลหะจะเป็นตัวเชื่อมยึดระหว่างกระดูกให้กระดูกมีความแข็งแรงขึ้น และยึดให้อยู่กับที่ จนกระดูกค่อยๆ สมานตัวเข้าที่
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ด้วยการใส่ข้อเทียมบางส่วน เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหัวสะโพกที่แตกหักออก และใส่ก้านสะโพกเทียมเข้าไปทดแทน โดยจะมีหัวสะโพกเทียมสวมลงก้านสะโพกเทียมอีกทีนึง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ
ควรการทำกายภาพหลังการผ่าตัด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาลุกยืน เดินได้ สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงดังเดิมก่อนกระดูกสะโพกหัก
ข้อดีการผ่าตัด
- ลดโอกาสเกิดภาวะการนอนติดเตียง
- ลดโอกาสเกิดแผลกดทับบริเวณหลังและก้นกบ
- ลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
- ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
- กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงดังเดิมก่อนกระดูกสะโพกหัก
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra