Bangpakok Hospital

ยุงกัดแต่ละครั้ง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

26 ก.ย. 2567

ยุงกัดแต่ละครั้ง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

เมื่อพูดถึงยุง หลายคนอาจนึกถึงความรำคาญใจที่เกิดจากการถูกกัดและอาการคันที่ตามมา แต่ความจริงแล้วยุงเป็นพาหะนำโรคร้ายหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ยุงแต่ละชนิดก็มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันว่ายุงแต่ละชนิดเสี่ยงโรคอะไรบ้าง และเราจะป้องกันตัวเองจากโรคที่มียุงเป็นพาหะได้อย่างไร 

ยุงกัดแต่ละครั้ง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

 

  1. ยุงลาย (Aedes) เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่สามารถทำให้เกิดอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และในกรณีที่รุนแรงอาจมีเลือดออกภายในอวัยวะต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยุงลายยังเป็นพาหะนำโรคชิกุนกุนยา (Chikungunya) ที่ทำให้เกิดอาการไข้และปวดข้อ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika) ที่สามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้อย่างร้ายแรง
  • ลักษณะ : ลำตัวและขามีลายขาดำสลับชัดเจน ขนาดกลาง บินคล่องแคล่ว เสียงเงียบ ไม่ค่อยมีเสียงหึ่งเหมือนยุงชนิดอื่น
  • บริเวณที่พบได้ : พบได้ในพื้นที่ชุมชนและเขตเมือง เช่น บริเวณบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และแหล่งเพาะพันธุ์ที่มีน้ำขังสะอาด เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ภาชนะที่มีน้ำขัง ยางรถเก่า

 

  1. ยุงรำคาญ (Culex) เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบที่สามารถทำให้เกิดการอักเสบของสมองได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางกรณีอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทอย่างถาวร
  • ลักษณะ : ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา ขนาดใหญ่กว่ายุงลาย มีปีสีขาวนวล บินช้าและมีเสียงหึ่งชัดเจน
  • บริเวณที่พบได้ : มักพบในพื้นที่น้ำขังที่ไม่สะอาด เช่น ท่อระบายน้ำ บ่อน้ำขัง น้ำในทุ่งนา และบริเวณที่มีน้ำสกปรก รวมถึงในบ้านเรือน หรือบริเวณใกล้แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

 

  1. ยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อปรสิตและแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายผ่านการกัดของยุงก้นปล่อง โดยอาการของโรคจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้
  • ลักษณะ : มีลำตัวขนาดเล็ก สีดำหรือน้ำตาลเข้ม มีปีกใสและเกาะตัวทำมุม 45 องศากับพื้นผิว ปลายท้องยกขึ้น
  • บริเวณที่พบได้ : พบในพื้นที่ป่าทึบหรือเขตชนทบทที่มีป่าเชิงเขาแหล่งน้ำใสสะอาด เช่น ลำธาร คลอง และบ่อน้ำในป่า ออกหากินในช่วงกลางคืน

  1. ยุงเสือ/ยุงลายเสือ (Mansonia) เป็นพาหะโรคเท้าช้าง โรคนี้เกิดจากเชื้อพยาธิที่แพร่กระจายผ่านการกัดของยุง อาการหลักของโรคคือ การบวมของแขน ขา หรืออวัยวะเพศ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการบวมอย่างถาวรและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
  • ลักษณะ : ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม ปีมีลายขาวสลับน้ำตาล ขนาดใหญ่ บินได้ดีและดูดเลือดเร็ว มีขาและปีกที่ใหญ่และแข็งแรง
  • บริเวณที่พบได้ : พบได้ในพื้นที่ชื้น เช่น บริเวณหนองน้ำ ทะเลสาบ พื้นที่มีพืชน้ำหรือหญ้าแฝก รวมถึงบริเวณรอบๆ หมู่บ้านที่มีน้ำขัง หรือแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำหนาแน่น

 

วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยง

แม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญกับยุงได้ แต่ก็มีวิธีป้องกันที่สามารถลดความเสี่ยงได้ เช่น การกำจัดแหล่งน้ำขังรอบๆ บ้าน การใช้ยาทากันยุง การติดตั้งมุ้งลวด การสวมเสื้อผ้าอย่างที่ปกปิดมิดชิดในเวลาที่มียุงชุกชุม เช่า เช้ามืดหรือเย็น 

 

การป้องกันตัวเองจากยุงไม่เพียงแต่จะช่วยลดความรำคาญ แต่ยังช่วยป้องกันเราและครอบครัวจากโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะได้อีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพอนามัยและป้องกันตัวเองจากยุงให้ดี เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัว




ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan

LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra


Go to top
Copyright © 2021 Bangpakok Hospital All rights reserved.