สิ่งที่พ่อแม่ควรรับมือ เมื่อเด็กเกิดอาการร้องกลั้น
การร้องไห้กลั้นในเด็กเล็ก หรือที่เรียกว่า Breath Holding Spell เป็นอาการที่พบได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี และพบได้บ่อยในช่วงวัย 2 ขวบ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีอารมณ์รุนแรง เช่น ตกใจ เจ็บปวด หรือหงุดหงิดอย่างมาก จึงทำให้เด็กหยุดหายใจชั่วขณะจนเกิดอาการหน้าเขียวหรือหมดสติไปในบางกรณี จริงๆ แล้ว ภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสมองหรือพัฒนาการของเด็ก และเด็กจะกลับมาหายใจเองได้ภายใน 1 นาที แต่อย่างไรก็ตามการรู้จักสังเกตอาการและรับมืออย่างถูกวิธีจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
อาการร้องไห้กลั้นในเด็ก
- ร้องไห้หนัก เด็กจะเริ่มต้นด้วยการร้องไห้รุนแรง
- หยุดหายใจชั่วขณะ อาจทำให้พ่อแม่ตกใจ เพราะดูเหมือนว่าลูกหยุดหายใจไป
- ปากเขียว ตัวเขียว เมื่อหยุดหายใจนาน อาจทำให้ปากหรือร่างกายของเด็กมีสีเขียวคล้ำ
- หมดสติช่วงสั้นๆ บางครั้งเด็กอาจหมดสติไป แต่ไม่เกิน 1 นาที และจะกลับมารู้สึกตัวได้เอง
สาเหตุของการร้องไห้กลั้น
การร้องไห้กลั้นมี 2 ชนิด คือ
- แบบกลั้นเขียว มักเกิดจากการที่เด็กโกรธหรือไม่ได้ดั่งใจ
- แบบกลั้นซีด มักเกิดจากความเจ็บปวด เช่น การหกล้ม หรือถูกกระแทงอย่างแรง
วิธีรับมือเมื่อลูกมีอาการร้องไห้กลั้น
- คุมสติให้ดี พ่อแม่ต้องสงบสติอารมณ์และไม่แสดงความตื่นตระหนก
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูก ใช้ของเล่นหรือสิ่งของที่ลูกชอบ เพื่อดึงดูดความสนใจและทำให้ลูกกลับมาหายใจตามปกติ
- ไม่เขย่า หรือดุด่าว่ากล่าวลูก เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้สถานการณ์แย่ลง
- นวด หรือปลอบอย่างอ่อนโยน ใช้การสัมผัสเบาๆ เพื่อให้ลูกผ่อนคลายและกลับมาหายใจปกติ
- อุ้มลูกในท่าที่สบาย จับลูกนอนราบพื้น หรืออุ่มในท่าที่ศีรษะสูงเล็กน้อย เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด
- เช็ดหน้าลูกด้วยผ้าชุบน้ำ การใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าหรือหน้าอกอาจช่วยทำให้รู้สึกสบายตัวและผ่อนคลาย
หากลูกมีอาการร้องไห้กลั้นบ่อยครั้ง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ภาวะเลือดจางหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท รวมถึงเฝ้าระวังหากลูกมีอาการหยุดหายใจนานกว่า 5-10 นาที หรือลูกมีพฤติกรรมผิดปกติอื่นๆ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำทันที
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra