คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม ก้อนแบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?
คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม ก้อนแบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?
มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ของหญิงไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีและบ่อยครั้งมีการพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุมาจากการคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณเต้านม รวมถึงอาการเจ็บเต้านม แต่ในบางรายจะไม่มีอาการเจ็บเต้านม จึงส่งผลให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มักปล่อยปะละเลย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การสังเกตตัวเอง หากคลำพบก้อนเนื้อที่เต้านมแล้วกลิ้งไปมาได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บอย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร เพราะก้อนที่เต้านมนั้นมีโรคกลุ่มหลักๆอยู่ 3 กลุ่มคือ ซีสต์เต้านม , เนื้องอกเต้านม , มะเร็งเต้านม
ดังนั้นผู้หญิงที่คลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม แต่ไม่รู้สึกเจ็บไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยทันที หรือสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้ ด้วยการตรวจคัดกรองตั้งแต่ในระยะแรกๆ เมื่อพบเร็วและเข้ารับการรักษาเร็ว ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น
ก้อนบริเวณเต้านมที่พบมากมี 3 ลักษณะคือ
- ซีสต์ที่เต้านม หรือถุงน้ำในเต้านม มีลักษณะเป็นถุงน้ำมีเซลล์ต่อมน้ำนมล้อมรอบและภายในเป็นน้ำ ถุงน้ำในเต้านมเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติของเต้านม ไม่ใช่ลักษณะเริ่มต้นของมะเร็ง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งเต้านม อีกทั้งผู้ป่วยถุงน้ำที่เต้านมมักจะมีประวัติถุงน้ำโตและยุบตามรอบประจำเดือน
- ก้อนเนื้อที่เต้านม คือ เซลล์ของต่อมน้ำนมและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเต้านมรวมตัวกันเป็นก่อน โดยก่อนเนื้อที่พบมี 2 ประเภท คือ ก้อนเนื้อธรรมดา ในกลุ่มนี้จะไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง
- ก้อนเนื้อที่มะเร็งเต้านม มีลักษณะก้อนที่ค่อนข้างแข็งกว่าก้อนเนื้อธรรมดา และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
ลักษณะเตือนมะเร็งเต้านม ที่สามารถสังเกตได้เองมีดังนี้
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยก้อนเนื้อที่พบอาจจะกดเจ็บ หรือไม่เจ็บ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนหลังรอบเดือนหมด ประมาณ 1 สัปดาห์
- ขนาดหรือรูปร่างเต้านมเปลี่ยนไป โดยปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างอาจมีลักษณะที่ต่างกันบ้าง แต่การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันหากเกิดโรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
- ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนา เหมือนเปลือกส้ม รวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด เนื่องจากอาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
- มีน้ำเหลือง หรือ ของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทันที
- อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม หรือ ผิวหนังของเต้านมอักเสบ หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อร่วมด้วย ไม่ควรปล่อยปะละเลยเด็ดขาด
- ผื่นคันบริเวณเต้านมรักษาแล้วไม่หายขาด ผื่นคันอาจเกิดขึ้นที่หัวนมหรือบริเวณเต้าส่วนใหญ่ เริ่มต้นเป็นเพียงผื่นแดงแสบๆ คันๆ แม้จะรักษาโดยแพทย์ผิวหนังแล้วยังไม่หายขาดจนกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิฉัยอีกครั้ง
ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยมีปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมากมาย ทั้งอายุ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ ควรให้แพทย์ตรวจและประเมินอาการ ตรวจเต้านม พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra