อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นแค่ไหนสำหรับคุณแม่?
อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นแค่ไหนสำหรับคุณแม่?
การอยู่ไฟ เป็นวิธีทางการแพทย์แผนไทยใช้ดูแลสภาพร่างกายของผู้หญิงหลังคลอด เพราะการคลอดบุตรทำให้ธาตุทั้ง 4 ในร่างกายเสียสมดุล โดยเฉพาะธาตุไฟ ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว หนาวง่าย หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย
ซึ่งการอยู่ไฟจะช่วยทำให้รู้สึกสบายตัว บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ขับน้ำคาวปลา และป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจตามมาได้
ดังนั้นการอยู่ไฟจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเหมาะสม จึงจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
การอยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร?
การอยู่ไฟเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายของคุณแม่หลังคลอด เพื่อปรับสมดุลเลือดลมในร่างกายให้กลับมาปกติให้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเชื่อว่าการอยู่ไฟมีประโยชน์มากมาย ช่วยขับน้ำคาวปลา กระตุ้นน้ำนม ฟื้นฟูร่างกายที่อ่อนล้าหลังคลอด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี หากเลือดลมไหลเวียนไม่ดี น้ำเหลืองจะไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเลือดเสียที่เกิดจากการคลอดบุตรออกมาไม่หมด ทำให้เลือดนั้นกลายเป็นพิษตกค้างอยู่ในร่างกายและส่งผลเสียตามมา เช่น ทำให้เกิดอาการคล้ายลมพิษ มีผื่นแดงคันเมื่ออากาศร้อน หรือเย็น มีอาการหนาวสะท้านเข้ากระดูก มีไข้ หรือเกิดอาการในช่วงวัยถัดมา เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขี้หนาว จากสาเหตุดังกล่าวการอยู่ไฟ จึงยังได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ประโยชน์ของการอยู่ไฟ
- ช่วยกระตุ้นร่างกายให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต
- ร่างกายจะมีการเพิ่มอุณหภูมิ ช่วยเพิ่มความอบอุ่น เพราะส่วนใหญ่แม่หลังคลอดมักจะอาการรู้สึกหนาวเข้ากระดูกเวลาอากาศเย็น
- ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย จากการคลอดและการเสียเลือดในช่วงคลอดลูก
- ความร้อน ความอบอุ่น ช่วยลดการปวดเมื่อยตามข้อต่างๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นแข็งแรง
- การอยู่ไฟ อบสมุนไพร ช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง สุขภาพดีขึ้น
- การปรับอุณหภูมิด้วยความร้อน จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น
- ช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้ปกติ เลือดลมไหลเวียนดี
- ช่วยให้หน้าท้องยุบเร็ว
- ช่วยลดความเจ็บปวด เมื่อมดลูกเกิดภาวะบีบรัดตัวให้เข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติควรเว้นระยะให้แผลหายก่อนคือ 7-10 วัน และสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอดควรเว้นระยะ อย่างน้อย 30-45 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เกิดการอักเสบติดเชื้อของแผลผ่าคลอด
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra